7 ปี 11 เดือน 3 วัน “บอส สั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา”
7 วัน “อัยการ” เขี่ย “พยานหลักฐานใหม่?” (3/3)
นายชาญชัย: เอาอย่างนี้ก่อน พยานที่อ้างว่า เราไม่ได้บอกว่าเรามีความเห็นเรื่องนั้นอย่างไร เรากำลังบอกว่า เราเข้าไปตรวจอัยการที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ท่านมีความเห็นเรี่องนี้อย่างไร ผมไม่ได้เรียนว่าสิ่งที่เรากำลังบอกมันคือเหตุผลที่เรามีความเห็นตามนั้น ผมเรียนว่าพยานในสำนวน มีพยานอ้างว่าอยู่ในเหตุการณ์ อ้างว่าเห็นเหตุการณ์ใกล้เคียง ประมาณ 8 คน นอกจากที่เหลือ จะมีพยานอ้างว่าขับแท็กซี่ อ้างว่าเดินอยู่ริมถนน เห็นรถมา ได้ยินเสียง หันไปมองเห็นเฉี่ยวชนมีประมาณ 7-8 คน พยานพวกนี้ในทางคดีเป็นพยานที่ ผมเรียนว่าพยานมี 2 อย่าง คือพยานที่อ้างว่าเห็น เราไม่ได้เอามาฟังเลย เราต้องพิจารณาจากคุณภาพของพยาน พยานพวกนี้ถือว่ามีคุณภาพไม่ได้ ถามว่าพยานพวกนี้เราจะเอามาพิจารณาได้เมื่อไร เมื่อมันมีข้อเท็จจริงที่ฟังได้แล้วว่าเป็นอย่างนั้นแล้วสอดคล้องกับพวกนี้
กลับไปที่ความเร็ว พยานที่อ้างว่าเห็น ทุกคนในสำนวน ความเร็วไม่เกิน 80 เลย ถ้าผู้เชี่ยวชาญท่านธนสิทธิ ถ้าท่านไม่เปลี่ยนความเห็นของท่าน พยานพวกนี้เปลี่ยนแปลงความเร็วรถไม่ได้ เราเชื่อผู้เชี่ยวชาญ แต่ท่านธนสิทธิเองท่านอ้างว่าการคำนวณของท่านผิดพลาด ไม่แม่นยำเท่าวิธีใหม่ ความเร็วที่ท่านเคยให้ไว้ในสำนวนในเวลาต่อมามันจึงกลายเป็น 80
ถ้าดูตามนี้พยานพวกนี้จึงให้การสอดคล้องกันในเรื่องความเร็ว เราไม่สามารถฟังเป็นอย่างอื่นได้เลย
สอง ในบรรดาพยานด้วยกันทั้งหมด เราจึงเห็นว่า เจ้าของสำนวนให้ความสำคัญกับคุณจารุชาติ เพราคุณจารุชาติเป็นพยานที่อ้างว่าขับรถปิ๊กอัพ รถปิ๊กอัพสำคัญยังไง เราปิ๊กอัพอยู่ในคลิปเพราะฉะนั้นจารุชาติมีน้ำหนักมากกว่าพยานอื่นในความเห็นของเจ้าของสำนวนเพราะเป็นพยานที่มีอยู่จริง ๆ เมื่อเขาอยู่ในคลิปคำให้การของเขามีน้ำหนัก
จารุชาติมาเมื่อไร ถ้ามาตั้งแต่แรก แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้ให้ความสำคัญเพราะไปให้ความสำคัญกับ 177 สิ่งที่ให้สอบสวนเพิ่มเติมนายจารุชาติภายหลังคือสิ่งที่พนักงานสอบสวนไม่เคยสอบถามไว้เลยว่าในวันนั้นคุณขับมาด้วยความเร็วเท่าไรซึ่งคำตอบก็คือไม่เกิน 80 อีก
เพราะฉะนั้นเวลาเราทำงานเราทำงานในข้อเท็จจริงซึ่งทุกคนทราบได้ว่ามีอยู่ 2 อย่าง ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน ผมเรียนว่าเราไม่มีทางทราบข้อเท็จจริง จริง ๆ เราทำงานได้แค่ข้อเท็จจริงในสำนวน ซึ่งเรื่องนี้จากที่เราไปตรวจ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มันฟังความเร็วรถเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจาก 80 สอดคล้องกับพยานทุกปากที่้อ้างว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ยังมีการส่ายด้วยซ้ำไป ซึ่งเราไม่ได้เอามาฟัง แล้วไปตัดหน้า เมื่อตัดหน้าแล้วความเร็วรถจึงเป็นประเด็นสำคัญ
ถ้าความเร็วรถมากกว่า 80 ไม่ว่าจะปาดหน้าหรือไม่ปาดหน้า ความเห็นในการสั่งคดีก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าคุณขับรถเร็ว การที่ฝ่ายหนึ่งประมาท ไม่ได้แปลว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะประมาทไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ตั้งผู้ตายเป็นผู้ต้องหาเพราะพยานบอกว่าขับรถมอเตอร์ไซค์ปาดหน้า
ที่ท่านเนตรสั่งไม่ฟ้องเพราะว่าในคำให้การของพยานและผู้เชี่ยวชาญอ้างว่าในตำแหน่งนั้นรถปิ๊กอัพของจารุชาติมันบังมอเตอร์ไซค์ ซึ่งความเห็นของท่านเนตรที่อ้างว่าเหตุสุดวิสัยก็เป็นดุลพินิจที่เราต้องเคารพ แต่ถ้าความเร็วเปลี่ยนไป ผมก็ยังยืนยันว่าความเห็นที่จะสั่งคดีนี้อาจต้องนำมากลับมาพิจารณากันใหม่
คือเราไม่ใช้คำว่าน่าเชื่อถือ เราใช้คำว่า "น้ำหนัก" คดีอื่นผมไม่ทราบ แต่ผมเรียนว่าคดีขับรถประมาทพยานสำคัญที่สุดเลยคือ ที่เกิดเหตุ สภาพความเสียหาย และคนที่ไปตรวจสภาพที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานในคดีประเภทนี้จะเป็นตัวตั้งก่อน พยานที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์เราจะรับฟังและถือว่ามีน้ำหนักในทางคดีเมื่อพยานปากนั้นให้การในข้อเท็จจริงสอดคล้องกับสภาพที่เกิดเหตุ
นายปรเมศวร์: ปี 61 เราหยุดไปแล้วเรื่องนี้ ต่อมาผู้ต้องหาร้องอีก ร้องในปี 62 จนกระทั่งร้องอีกครั้งให้สอบ พล.อ.ท.จักรกฤช กับนายจารุชาติ ซึ่งท่านรองเนตรขึ้นมารับผิดชอบในฐานะคดีร้องขอความเป็นธรรมท่านก็สั่งสอบ...บางเรื่องในสำนวนเราอาจจะให้ไม่ได้เพราะคดีมันยังไม่เสร็จ...เอาที่จารุชาติก็ได้ จารุชาติไม่ได้พยานใหม่ อย่างสอบสวนนายจารุชาติเราก็ไม่ได้บอกว่าสอบยังไง
พนักงานสอบสวนก็ถาม ผมเปิดให้ดูนิดนึง ตามที่ท่านมาให้การเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2555 ว่าท่านได้ขับรถตามหลังรถจักรยานยนต์ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ท่านสามารถระบุรายละเอียดในกล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพจนเกิดเหตุที่พนักงานสอบสวนให้ดูได้หรือไม่ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนครั้งสุดท้ายนายจารุชาติเปิดดูกล้องวงจรปิด เราไม่ได้สั่งว่าคุณต้องสอบยังไง
จารุชาติบอกว่า ภาพวงจรปิดที่พนักงานสอบสวนนำมาเปิดให้ดูนั้น ข้าฯ สามารถยืนยันได้ว่ามีรถยนต์กระบะที่ข้าฯ ขับตามหลังรถจักรยานยนต์ซึ่งปรากฏอยู่ในกล้องวงจรปิดโดยข้าฯ ได้ลงลายมือชื่อรับรองในสำเนาภาพถ่ายกล้องวงจรปิดดังกล่าวไปแล้ว แล้วมาตอบตอนสุดท้ายว่า ในช่วงเกิดเหตุคดีนี้ ข้าฯ ประกอบอาชีพรับจ้างขับรถขนส่งสินค้าให้กับบริษัทมาริโอจำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่บุคคโล ธนบุรี โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 เวลา 05.20 น. ได้ขับกระบะซึ่งเป็นรถของบริษัทเพื่อไปส่งสินค้าขับขี่ไปตามถนนสุขุมวิทฝั่งขาออกผ่านสี่แยกอโศกมุ่งหน้าไปทางพระโขนงด้วยความเร็ว 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และนายวรยุทธ คือรถที่ขับตามหลังมาก็ขับมาด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเช่นเดียวกัน...พนักงานสอบสวนสอบมาเขาให้การมาอย่างนี้
สุดท้ายในสำนวนมันคล้าย ๆ ว่า ความเร็ว 80 สองคนแรก อันที่สอง 79.23 ของธนสิทธิที่กลับ สายประสิทธิ์ บอก 76.1 อะไรไม่รู้ แล้วมาคนที่อยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุที่สุดคนนี้มารับ ส่วนทหารอากาศอีก 2 คน ขับตามหลังกลับจากงานเลี้ยงของ เสธ คนหนึ่งแล้วนั่งรถมาด้วยกันเขาก็บอกอย่างนี้ เป็นการฟังประกอบเท่านั้น นี่อธิบายให้ฟัง
นายชาญชัย: ผมยังยืนยันความเห็นจะเปลี่ยนไม่เปลี่ยนขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เราเห็นว่าใหม่ ตอนนี้ประเด็นเราคือเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความเร็วเราพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ 80 ตามที่เราฟังเป็นพยานหลักฐานที่ใช้ตรงนี้ต้องหามาให้ได้ว่าเป็นความเร็วอย่างนั้นจริงหรือไม่ ส่วนการร้องขอความเป็นธรรมเป็นคนละส่วนกัน เราคงห้ามไม่ได้จะกลายเป็นการตัดสิทธิ ผมไม่คิดว่าจะมีกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องของความเห็นผู้เชี่ยวชาญ แต่สมมติเขาอ้างว่าผู้เชี่ยวชาญไปขอให้สอบเป็นพยานหลักฐานใหม่ถูกถอนใบอนุญาตในความรู้อะไรก็แล้วแต่อันนี้เราต้องฟัง ขณะเดียวกันถ้าเขาอ้างผู้เชี่ยวชาญของเขาเราก็ต้องฟัง
เรียนว่าในการทำคดีเราจะไม่แยกว่าพยานของใคร ตรงนี้ทำให้เราเข้าใจผิดว่าอันนี้เป็นพยานผู้ต้องหา อันนี้เป็นพยานผู้กล่าวหา พยานก็คือพยาน พยานไม่มีหน้าที่ให้การเพื่อเป็นประโยชน์กับใคร เขาต้องให้การไปตามสิ่งที่เราอยากจะทราบในข้อเท็จจริงนั้น ประเด็นนี้ไม่ต้องกังวล ถ้าเขาร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาไม่เกี่ยวกับประเด็นการให้ความเห็นเรื่องความเร็วมันก็ไม่น่าจะมีประเด็น
(ระหว่างนี้เป็นการถาม-ตอบสัก 1-2 คำถามก่อนที่นายชาญชัยจะกลับมาตอบคำถามประเด็นความเร็วรถอีกครั้ง)
ความเร็วเราฟังความเร็วจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญในสำนวนขณะตรวจสั่ง ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นเดียวเหมือนกันหมด 4 คนด้วยซ้ำว่าไม่เกิน 80 วันนี้มีการอ้างหลังจากมีการสั่งไม่ฟ้องแล้วว่ามีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งหรือหลายท่านก็แล้วแต่ให้ความเห็นว่า คำนวณความเร็วไม่น่าจะเป็น 80 เหมือนผู้เชี่ยวชาญที่ได้ให้ความเห็นไว้
เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ ความเห็นของใคร อย่าไปใช้ว่าความเห็นที่ "ถูก" ความเห็นที่ "น่าเชื่อถือ" ตรงนั้นต่างหากที่จะเป็นจุดที่เอามาตรวจสั่ง ถ้าเกิดว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญใหม่ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมันก็ไม่ได้แปลกลับไปว่า ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญนั้น "เท็จ" อันนั้นต้องไปพิสูจน์กันอีกชั้นหนึ่ง
เรื่องสารยาเสพติดยังไม่ได้สั่งคดี มันต่างจากสั่งไม่ฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ แต่คดีโคเคน จากที่เราไปตรวจเราเข้าใจว่าเจ้าของสำนวนเห็นว่า ความเห็นของแพทย์ในเรื่องการเสพโคเคนยังไม่ชัดท่านก็เลยไม่ได้ดำเนินคดี ซึ่้งเราดูแล้วหลักฐานนี้ดำเนินคดีได้ และเรามีความเห็นว่าควรให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสพโคเคนตามหลักฐานที่มีอยู่แล้วไม่ต้องเจาะใหม่ เลือดเจาะแล้ว ผลให้แล้ว เพียงแต่ 2 สารที่ว่าเป็นแค่หลักฐานของปฏิกิริยาในร่างกายที่บอกว่าถ้าเสพโคเคนมันจะให้สารตัวนี้ ถ้าเสพโคเคนกับเหล้าจะให้สารตัวนี้ แต่หมอบอกสารนี้อาจจะเกิดการกินยาก็ได้ เพราะฉะนั้นคนทำคดีสามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาว่า เราจะฟังข้อเท็จจริงเรื่องนั้นแล้วว่าผิดหรือยัง
นายประยุทธ: ระเบียบของเราถ้าได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเราก็ดำเนินการให้ถ้ามีหลักฐาน มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอ รายละเอียดว่าต้องมายื่นเองไหม มีขั้นตอนว่าต้องมาปรากฏตัวไหม ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายต้องยื่นเองไหม ระเบียบเขียนไปยังไม่ถึง แต่เราก็มองอยู่เหมือนกันว่า ทุกวันนี้การขอขยายอุทธรณ์ของศาลมีการขอแก้กฎหมายแล้วตรงนี้ก็น่าจะกลับมาทบทวน
ประเด็นที่คณะทำงานบอกว่าสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องคดีในแง่กฎหมาย ระเบียบ มีอะไรรองรับไหม เราอธิบายเป็นขั้นตอนว่า "มี"
ประเด็นที่สอง การสั่งสำนวนของอัยการต้องอยู่บนพื้นฐานข้อกฎหมายและพยานหลักฐานในสำนวนใช่ไหม "ใช่"
ประเด็นที่สาม ทำไมใช้ดุลพินิจอย่างนั้นอันนี้ "เราไม่ก้าวล่วง" เพราะคณะทำงานไม่มีอำนาจไปแตะตรงนั้น แต่เราตั้งเป็นข้อสังเกตกราบเรียนท่านอัยการสูงสุดว่ามีประเด็นตรงนี้อยู่ด้วย เราไม่ได้ไปรับรอง เพียงแต่ว่าเราใช้คำว่า สิ่งที่ท่านสั่งนั้นมีกฎหมายและระเบียบรองรับเป็นพยานหลักฐานในสำนวนไม่ได้สั่งตามอำเภอใจ แต่ทำไมถึงใช้ดุลพินิจเช่นนั้นคณะทำงานเราไม่ไปแตะดุลพินิจเพราะมีรัฐธรรมนูญรองรับอยู่ และส่วนการใช้ ละเอียด รอบคอบ ถี่ถ้วน น่าเชื่อหรือไม่ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่ง ไม่ใช่คณะทำงานชุดนี้
กระบวนการเวลาท่านเนตรสั่งคดีนี้ ข้อเท็จจริงส่วนใหญ่อยู่ในสำนวนอยู่แล้วท่านมาเติมในช่วงท่านรับตำแหน่งตุลาที่แล้วเพิ่มมา 2 ปาก แต่องค์รวมพยานอยู่ในสำนวนมา 8 ปีแล้ว
ประเด็น ดร.สายประสิทธิ์ อยากจะเชื่อมโยงไปคำถามก่อนหน้าว่า ได้ดูพิรุธของพยานไหม กฎหมายบ้านเราอัยการเป็นคนสั่งสอบเพิ่มแต่ไม่ได้ลงไปสอบ คนที่อยู่หน้างานเห็นพิรุธจะเป็นพนักงานสอบสวนเหมือนศาลพิจารณาเห็นหน้าตาจำเลย แต่อัยการสั่งแล้วสั่งไปตามข้อเท็จจริงในสำนวนแล้วได้กลับมาพิจารณาตามเอกสาร ข้อกฎหมายเป็นแนวทางอย่างนี้
สรุปคณะทำงานเราพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ไปแล้ว คณะทำงานเห็นว่า
1.เราจะแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไปในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคเคน ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2522 มาตรา 58, 91
2.จะให้ดำเนินการตาม ป.วิ อาญา มาตรา 147 ทำการสอบสวนใหม่ในประเด็นขับรถโดยประมาท อายุความเหลืออีก 7 ปี
---------------------------------------------------------------------------------------
ไหน ๆ ก็รอมาเกือบ 8 ปีแล้ว รออีกสัก 15 วันเพื่อฟังฝั่งตำรวจบ้างจะเป็นไร
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้รับผิดชอบคำสั่งไม่เห็นแย้งกับคำสั่งของอัยการ ได้เข้าชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการฯ ที่ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2563 ดังนี้
พล.ต.อ.ศตวรรษ: ได้รับมอบหมายจาก ผบ.ตร.ให้มาชี้แจงวันนี้ ผมได้รับคำสั่งให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาหรือเหตุที่มี นายบอส หรือนายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งเราได้ดำเนินการคำสั่งเมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 คำสั่งนี้ได้กำหนดไว้มีกำหนดไว้ 15 วัน คงประมาณ อาทิตย์หน้า วันที่ 12 หรือ 13 คำสั่งจะครบ ซึ่งคณะทำงานของผมก็จะรวบรวมเกี่ยวข้องข้อเท็จจริงทั้งหมดของตำรวจ ได้มีการวางกรอบไว้ 3 ขั้นตอน 1.เกี่ยวกับเรื่องพนักงานสอบสวนส่งฟ้องผู้ต้องหา 2.ขั้นตอนพนักงานสอบสวนต้องสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งอัยการ
และขั้นตอนสุดท้ายเกี่ยวกับความไม่เห็นแย้งของ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รายละเอียดทั้งหมดเราได้ลงลึกแต่ส่วนที่จะชี้แจงสรุปน่าจะเป็นอาทิตย์หน้าทางคณะกรรม การถึงจะมีการสรุปและชี้แจงให้พี่น้องประชาชนและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ชั้นนี้อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน ประเด็นไหนที่สงสัยที่ผมสามารถตอบได้จะเรียนชี้แจงบอกกล่าวให้ทราบทั่วกัน ในชั้นนี้มีเพียงเท่านี้
----------------------------------------------------------------------------------------
ทั้งหมดเป็นคำแถลง-ชี้แจงของคณะทำงานอัยการ และประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของตำรวจ ฟังได้ความหรือไม่ฝากช่วยกันพิจารณา แต่เรื่องนี้ทีมข่าวพีพีทีวีจะเกาะติดไปจนกว่าจะได้ผลสรุปจากชุดทำงานของ ศาตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ซึ่งชุดนี้ดึง ปปง.มาช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วย
หลายเสียงพูดตรงกันว่า คณะทำงานชุดอาจารย์วิชา "เอาจริง"
ไม่มี 177 เป็น 79 ไม่มี ยาปฏิชีวนะ เป็น โคเคน ไม่เป็น "มวยล้มต้มคนดู"
ก็หวังว่าจะฟื้นศรัทธา คืนความเป็นธรรม และนำพาไปสู่การ "ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม" ได้อย่างแท้จริง จริง ๆ เสียที หลังจากที่สังคมไทยเชื่อลมปาก เฝ้ารอการปฏิรูปจนสิ้นหวังมาเป็นสิบปี.