เปิดหลักฐาน "ค้างคาวมงกุฎ" ในไทย

ใช่ "ต้นตอ" โควิด-19 ระบาดหรือไม่

----------------------------------------------

หมายเหตุ: ถอดความจาก ไลฟ์เฟซบุ๊ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หัวข้อ SARS-CoV-2 Variants of Concern (VOC): What is the concern? ไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์ มีความน่ากังวลแค่ไหน เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2564

----------------------------------------------- 

           ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักเทคนิคการแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หนึ่งในทีมวิจัยไวรัสในค้างคาว และผู้ถอดรหัสพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 เปิดผลการศึกษาวิจัยเชื้อไวรัสในค้างคาว หลังปรากฏข่าวที่แปลมาจากสำนักข่าวซินหัว ปรากฏชื่อ จุฬาฯ ซึ่งที่มาที่ไปมาจากรายงานการศึกษาวิจัยที่ทำ จึงนำมาเล่าให้ฟังว่า ความจริง "ซุกไวรัส" หรือไม่

          ในข่าวที่แปลเป็นภาษาไทย มีหลายอย่างขอเคลียร์ก่อนจะเล่าเชิงวิชาการ 

          1.Horseshoe bat ในข่าวบอกค้างคาวเกือกม้า จริง ๆ คือ ค้างคาวมงกุฎ ชื่อเขาเพราะกว่านั้น                    2.เชื้อที่พบจากการศึกษาวิจัยของทีมจุฬาฯ และเครือข่าย คล้ายกับโควิด-19 ก็จริงแต่ยังติดคนไม่ได้

          3.เชื้อที่เจอ เจอในมูลค้างคาว ไม่ใช่เลือด 

          4.เลือดค้าวคาวมงกุฎ และลิ่น เราตรวจเจอภูมิคุ้มกัน เราตรวจเจอแอนติบอดีย์ เป็นแบบเดียวกับที่พบในผู้ป่วยโควิด-19

          ที่มาการศึกษาวิจัยมาจาก ก.พ.2563 โควิดเริ่มระบาด คณะแพทยศาสตร์ จัดสัมมนานานาชาติ เชิญ โพรเฟสเซอร์หลินฟามาแล้วเกิดความร่วมมือ หลังจากนั้นท่านใจดีถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจแอนติบอดีย์ให้กับ รพ.จุฬาฯ ทำให้เราเป็นสถาบันแรกที่มีชุดตรวจแอนติบอดีพร้อมตรวจในไทยเมื่อต้นปีที่แล้วสืบเนื่องมาถึงงานวิจัยค้นหาต้นตอไวรัสในค้างคาว ต้นตอไวรัสโควิด 

          โดยเมื่อเดือน ม.ค.2563 มีรายงานจากสถาบันอู่ฮั่นไวรัสวิทยา WIV รายงานการพบผู้ป่วยโควิด-19 จากสถาบันของเขา ประกอบกับการตรวจเชื้อในค้างคาวด้วยก็พบเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีลักษณะสารพันธุกรรมคล้ายกับเชื้อที่เจอในคนถึง 96% เลยตั้งชื่อว่า RaTG13

          ค้างคาวที่เจอที่ประเทศจีนชื่อ "ไรโนโลฟัส แอฟฟินิส" หรือในภาษาไทย เรียกว่า ค้างคาวมงกุฎเทาแดง เจอในปี 2013 ที่เขาเก็บตัวอย่างไว้แล้วเอามาทำทีหลัง

          แผนที่สีแดงคือพื้นที่ที่พบไวรัสมงกุฎเทาแดง รวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนด้านขวาคือการเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรมซึ่งพบว่าอยู่ในก้านเดียวกันระหว่างเชื้อในค้างคาวและเชื้อในคน

          ต่อมาเปเปอร์ที่ 2 มีการายงานพบเชื้อคล้าย ๆ กันที่ยูนาน เป็นเชื้อที่เก็บตัวอย่างในค้างคาวมงกุฎมลายู เป็นค้างคาวตัวที่ 2 แล้ว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เก็บในปี 2019 ช่วงที่กำลังเริ่มมีการระบาด เขาพบสารพันธุกรรมมีความเหมือนกับเชื้อที่พบในคน 93% พื้นที่ที่เจอค้างคาวมงกุฎมลายูก็รวมประเทศไทยด้วย

          ต่อมาก็มีรายงานจากญี่ปุ่นพบค้างคาวมงกุฎแบบญี่ปุ่น ไม่เจอในประเทศไทย เลยไม่มีชื่อไทย พบว่ามีเชื้อที่คล้ายกับเชื้อที่พบในคน ความเหมือนอยู่ที่ 81% ชื่อไวรัสชื่อว่า Rc-0319 อยากให้จำไว้ สำหรับ Rc-0319 เป็นไวรัสที่เก็บตัวอย่างจากค้างคาวมาในปี 2013

          และล่าสุดที่กัมพูชายังไม่ได้ตีพิมพ์ มีการพบเชื้อในค้างคาวมงกุฎปลอมใหญ่ นี่ก็อีกตัวหนึ่งแล้ว ซึ่งเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2010 มีความเหมือนกับเชื้อที่พบในคน 92.6%

          ส่วนอีกตัวหนึ่งที่อยากจะเล่าให้ฟังจะเป็นตัวลิ่น ก่อนหน้านี้เป็นสินค้ายอดฮิต กิโลกรัมละ 4,000-5,000 บาท สามารถส่งออกได้ดี มีถิ่นฐานอยู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          การสำรวจเชื้อตัวลิ่นในประเทศจีนซึ่งเป็นลิ่นพลัดหลงเข้ามาในจีน พลัดหลงแบบไหนไม่ทราบ พบเชื้อไวรัสที่พบคล้ายกับเชื้อที่พบในคน 90%

          แต่ที่น่าสนใจคือในตำแหน่ง RBD ที่ไวรัสเข้าไปในคนก็คือผิดไปแค่ อะมิโนแอซิด เดียว แปลว่า มีโอกาสเข้าคนได้ ทิ้งไว้แบบนี้ก่อน

          สำหรับงานวัจัยของเราจากค้างคาวไรโนโลฟัส อคูมิเนตัส หรือชื่อภาษาไทย เรียกว่า ค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่

          ประเทศไทยมีค้างคาวมงกุฎที่ค้นพบแล้ว 22 สายพันธุ์ ตรงนี้เป็นแผนที่จากจีนที่พบ SARS-CoV-2 ในคน, ญี่ปุ่น, ไทย, กัมพูชา และทางใต้ของจีนที่เจอไวรัส 2 สายพันธุ์ และมีทั้งทางตะวันออกด้วย เป็นแผนที่ที่เราพยายามปิดแกปว่าไทยจะเจอไหมนั่นคือที่มาที่ไปของงานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งทำร่วมกับกรมอุทยานฯ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          ค้างคาวมีเชื้ออะไรไม่รู้เยอะไปหมด ก็อาจมีเชื้อความรุนแรงระดับ 3 ระดับ 4 ซึ่งก่อโรคในคนเมื่อไรก็ได้ เวลาทำงานในฟิลด์เราก็ใส่ชุดป้องกันไม่แตกต่างจากหมอที่ดูแลผู้ป่วยโควิด

           ที่อยู่อาศัยค้างคาวในท่อ ปกติค้างคาวจะอยู่ในถ้ำ รอบนี้เจอในท่อ เราจับค้างคาวมา 100 ตัว เก็บมูลค้างคาวโดยสวนไปที่ก้น และเจาะเลือดมาตรวจหาสารพันธุกรรม 

           ตรวจไป 100 ตัวพบสารพันธุกรรม 13 ตัวคล้ายกับเชื้อที่เจอในคน 91% คล้ายกับเชื้อในค้างคาวตัวแรก 91% แต่คล้ายกับเชื้อในค้างคาวยูนาน 93%

          การทดลองอีกงาน พอเราเจอไวรัสแล้ว เราทำโฮจีโนมได้แล้ว คำถามแล้วยังไงต่อ จะก่อโรคในคนหรือไม่ จึงทำการศึกษาเรื่องการ binding ACE-2 คือ receptor ผิวเซลล์ที่จะให้โควิดเข้าไปในเซลล์เพิ่มปริมาณและก่อโรคในคนหรือสัตว์ เราพบว่า ของเรา ตัวสีแดง ๆ โชคดีมาก เป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่ใช้ ACE-2 ในการเข้าเซลล์ แปลว่า ไม่ก่อโรคในคน ณ ตอนนี้ ยกเว้นอนาคตจะกลายพันธุ์ยังไงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

          ส่วนรูปกราฟขวามือเป็นการทดลองศึกษาการจับกันของ Human ACE-2 กับ ไวรัส ที่ทำเป็นจำลองขึ้นมาพบว่าตรงกันกับ ไพโลจีเนติค ทรี (Phylogenetic tree) ว่า เมื่อเราทำการทดลองมีเฉพาะเชื้อจากคนคือ SARS-CoV-2, SARS 1, เชื้อ TG13 ที่เจอในจีน และเชื้อจากลิ่นที่มีการจับเกิดขึ้น 

          ส่วนตัวอื่น ๆ คือ เชื้อของเราเอง เชื้อของยูนาน ไม่มีการจับกับ ACE-2เป็นการทดลองที่ยืนยันว่าตัวนี้เข้าเซลล์มนุษย์ไม่ได้

          ต่อมาสนใจว่าถึงเจอเชื้อไม่ครบทุกตัวแต่จะมีแอนติบอดีหรือไม่ เมืองไทยก็เจอลิ่นเรื่อย ๆ ลิ่นในไทยจะนำเชื้อไหม ก็ทำการทดลองคล้าย ๆ กัน เจาะเลือด เก็บมูลลิ่นจากทวารมาตรวจ ค้างคาวก็เก็บตัวอย่างแล้วปั่นที่ไซต์เลย

          ผลการตรวจรูปกราฟซ้าย ผลตรวจแอนติบอดีจาก SARS-CoV-2 ตรวจ 100 ตัวมีแอนติบอดีขึ้น 4 ตัว แต่ที่น่าสนใจคือมี 2 ตัวที่แอนติบอดีอยู่ในระดับที่มากกว่า 80%

          ถึงเราเจอเชื้อแต่ไม่ได้เหมือน SARS-CoV-2 เสียทีเดียว แต่ค้างคาวมีแอนติบอดีตอบสนองรุนแรงต่อ SARS-CoV-2 ก็ทิ้งไว้เป็นปริศนาว่าเราอาจมี SARS-CoV-2 หรือไม่ในไวรัสกลุ่มนี้

          ส่วนด้านขวาเป็นกราฟของเลือดที่ได้จาก ลิ่น พบ 90% แปลว่า ลิ่นก็มีภูมิคุ้มกัน มีแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2 แปลว่า ลิ่นที่เจอในเมืองไทยก็น่าจะมีเชื้อโควิด-19 อยู่ในตัวลิ่น แต่ตอนเราจับได้ตัวอย่างมาตรวจไม่เจอด้วยวิธี PCR แต่มีร่องรอย หลักฐานจากการติดเชื้อจากแอนติบอดี

          RaTG13 จากจีน เข้าเซลล์ได้          YN02 เข้าเซลล์ไม่ได้          Rc-0319 จากญี่ปุ่นเหมือนแค่ 81% แต่ไวรัสเข้าเซลล์ได้          ของไทยเข้าเซลล์ไม่ได้          ตัวลิ่นของจีนเข้าเซลล์ได้          เป็นจิ๊กซอว์ที่เราต้องปะติดปะต่อว่าต้นกำเนิดอยู่ไหนแล้วจะยังไง

          บทสรุปงานวิจัยของเรา เราสามารถพบเชื้อคล้าย ๆ SARS-CoV-2 ได้ในค้างคาวมงกุฎในภาคตะวันออกของไทย การทำโฮจีโนมมีความเหมือนกับค้างคาวมงกุฎที่พบในจีน

          งานของเราช่วยเติมเต็มแผนที่การพบเชื้อโควิด-19 ในค้างคาวของโลกใบนี้ว่าเนี่ยเจอที่จีนแล้วก็เจอไกลมาถึง 4,800 กิโลเมตรมาถึงประเทศไทย

          การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องระดับภูมิภาคยังจำเป็นต้องทำต่อไป

          ตัวแอนติบอดีก็มีประโยชน์ที่จะใช้ในการสำรวจเพราะปกติเราจะใช้ PCR ซึ่งแพง และบางทีเป็นช่วงที่ไวรัสหายไปแล้วตรวจไม่เจอเชื้อ

          ฉะนั้นงานวิจัยนี้ช่วยเปิดประเด็นว่าเราสามารถใช้แอนติบอดีในการสำรวจ สกรีนนิ่งเบื้องต้นก่อนไปหาเชื้อด้วยการ PCR หรือโมเลกุลาเทสติ้ง และคิดว่าน่าจะมี SARS-CoV-2 related อยู่ในภูมิภาคของเราโดยเฉพาะประเทศไทยมากกว่า 1 ชนิดแน่ ๆ ซึ่งคงจะต้องติดตามกันต่อไป

          พวกเรากลัวเราจะติดเชื้อจากสัตว์แต่รูปนี้กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าระดับโลกฝากมาว่าค้างคาวก็กลัวเชื้อจากคนไปติดเหมือนกัน เพราะคนและค้างคาวใช้ ACE2 เหมือนกัน เชื้ออาจเข้าไปเมื่อไรก็ได้ เลยมีคำเตือนว่าคนที่เข้าถ้ำควรไม่มีไข้ เพราะวันหนึ่งเราอาจเอาเชื้อไปติดค้างคาวแล้วเกิดเชื้อโควิด-19 เบอร์ใหม่ ๆ ได้

          ช่วงท้ายหลังการบรรยาย ดร.สุภาภรณ์ เล่าเบื้องหลังการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมและแผนงานที่จะทำต่อไปในอนาคตว่า เชื่อมั่นว่าเรามีโอกาสเจอเพราะว่าตัวไวรัสกับค้างคาวเป็นแพคเกจกัน เช่น ถ้าเจอไวรัสตัวนี้ในค้างคาวมงกุฎที่จีนแล้วมีค้างคาวมงกุฎที่ไทย ถ้าหาด้วยวิธีถูกต้องเหมาะสมเรามีโอกาสเจอแน่ ๆ แต่เจอถึง 13% และเจอในครั้งแรก ไม่ได้คาดคิด ถ้าหาเยอะกว่านี้ก็น่าจะเจอมากกว่านี้ ก็เป็นภารกิจของเราและกรมอุทยานฯ ที่คงต้องทำแมปปิงของค้างคาวมงกุฎและแมปปิงไวรัส เพื่อประเมินว่าจุดไหนมีความเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยก็จะได้ใช้ในงานเชิงนโยบายต่อไป.