"ซีเอ็ด"
จิ๊กเชี่อว่าใครที่เป็นนักอ่านเวลาเดินเข้าร้านหนังสือก็จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของเทรนด์หนังสือ ปริมาณหนังสือ การจัดวางของที่ขาย สังเกตุจำนวนและขนาดของร้านหนังสือตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
จิ๊กได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด(มหาชน) ถึงเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงของร้านหนังสือ”
เชื่อว่าหลายคนรู้จักและคุ้นหน้าคุ้นตา คุณเกษมสันต์เป็นอย่างดี เพราะบุคคลท่านนี้มีหลายบทบาท เป็นทั้งอาจารย์, นักจัดรายการ, พิธีกร, เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน จนยกให้เป็น Mister AEC และตอนนี้เป็นหัวเรือใหญ่ขององค์กรที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับหนังสืออันดับหนึ่งของประเทศ หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า “ซีเอ็ด”
คุณเกษมสันต์ที่จิ๊กเรียกว่า อาจารย์จนติดปาก เป็นคนคุยสนุก รอบรู้ทันสมัย สามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ได้เล่าเรื่องการปรับตัวขององค์กรให้ฟังว่า
“ก่อนที่ผมเข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ดของซีเอ็ด ในยุคที่เลือดกำลังไหล ก็อย่างที่เรารู้ กันดีว่า ปัจจุบันคนสนใจ ‘มือถือ’ มากกว่า ‘หนังสือ’ ฉะนั้นเราได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องยอมรับความเป็นจริง ผมเลยเรียกประชุมกับพนักงานของซีเอ็ดทั้งองค์กร แล้วถามเขาตรง ๆ ถึงสุขภาพขององค์กรในตอนนี้ว่าเป็นยังไง? ”
“ซีเอ็ด เคยมีสาขากว่า 500 สาขา แต่ปัจจุบันเหลือ 300 กว่าสาขา ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่โดน Disrupt ทั้งนักเขียน สำนักพิมพ์ สายส่ง ปรับตัวกันไม่ทัน ในภาวะที่พนักงานกำลังขวัญเสีย เราต้องกลับมาแก้ไขใหม่ทั้งหมด”
“การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกคนยอมรับความเป็นจริง”
สิ่งที่ซีเอ็ดยอมรับว่าจะต้องเปลี่ยนแปลง ก็มีอยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ คือ
ยอมรับและเข้าใจสถานการณ์ เรื่องขวัญ และกำลังใจของพนักงาน
คุณเกษมสันต์ย้ำว่า “ผมให้น้ำหนักไปที่เรื่องขวัญ และกำลังใจของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะซีเอ็ดมีพนักงานหลายพันคนโดยผมขอให้ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของซีเอ็ด ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ตำแหน่งไหนก็ตาม ให้ลงพื้นที่ไปที่ร้านซีเอ็ดในสาขาต่างๆ ให้ไปดู ไปเยี่ยม ไปช่วยเหลือพนักงานที่อยู่หน้าร้าน เช่นซื้อขนมไปฝาก ไปให้กำลังใจ แล้วบอกว่า ‘เราจะฟื้นไปด้วยกัน’
แม้กระทั่งตัวผมเอง ผมก็ลงพื้นที่โดยเลือกไปในสาขาที่อยู่ไกลหรือคนไม่ค่อยไป เช่น ยะลา แล้วก็ตระเวนทางภาคใต้ไล่ขึ้นมาผมไปเยี่ยมซีเอ็ดมาทุกร้าน ทุกสาขาเพราะผมเชื่อว่ากำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ”
การลงพื้นที่ของคุณเกษมสันต์นอกจากจะทำให้พนักงานหน้าร้านมีขวัญและกำลังใจที่ดีแล้วยังมีเรื่องของสินค้าในร้านซีเอ็ดที่ได้รับความนิยมในแต่ละพื้นที่ที่ไม่เหมือนกันมาเล่าให้ฟังด้วย
“จิ๊กลองทายซิ อย่างจังหวัดสระแก้ว อะไรในร้านซีเอ็ดที่ขายดี?” คุณเกษมสันต์ถาม
“เอ่อ.......ก็คงเป็นหนังสือนิยายรึป่าวคะ’จารย์” จิ๊กตอบแบบเดาๆ
“ม่ายช่ายยยย.......ตุ๊กตา!!”
“ห๊า??????”
คุณเกษมสันต์เล่าให้ฟังว่าร้านซีเอ็ดที่ผ่านมาปรับตัวพอสมควรเราไม่ได้ขายแค่หนังสือ เรามีทั้งอุปกรณ์เครื่องเขียน, แว่นตาอ่านหนังสือ, ขนมขบเคี้ยว, ของเล่น ฯลฯ แล้วคนที่ จ. สระแก้วมีทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา ซึ่งเขานิยมเข้ามาซื้อของเล่นในร้านซีเอ็ด โดยเฉพาะตุ๊กตาที่เขาบอกว่าคุณภาพดี หรือ อย่างจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมาก หนังสือขายดีก็จะเป็นพวกติวสอบ เพราะคนทำงานในโรงงานพอทำงานมาได้สักระยะ เขาก็ต้องการไปทำงานในตำแหน่งที่สูงกว่า เพื่อเงินเดือนที่มากกว่าแต่การเลื่อนตำแหน่งก็ต้องมีการสอบเลื่อนขั้นอย่างนี้เป็นต้น
“เพราะผมเชื่อว่าไม่มีใครรู้จักลูกค้าดีกว่าคนในพื้นที่ผมเลยให้สิทธิ์พนักงานในพื้นที่เป็นคนสั่งของเข้าร้าน เพราะเขาจะรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร”
“เขาสังเกตุ - เขาสั่ง - เขาขาย - แล้วเขาก็บริหารสต็อก.......เป็นการให้อิสระจากส่วนกลาง ให้เขามีส่วนร่วมในการช่วยกันคิด ช่วยกันบริหาร”
คุณเกษมสันต์ยังเล่าให้ฟังอีกว่า “สังเกตุประเทศที่เจริญหรือพัฒนาอย่างรวดเร็ว รัฐบาลและประชาชนจะให้ความสำคัญกับร้านหนังสือหรือห้องสมุดเป็นอย่างมาก ไม่ต้องไปไกลเอาแค่ใกล้ๆ บ้านเรา เช่น สิงคโปร์, จีน, ไต้หวัน, เวียดนาม...แล้วเราจะไม่มีข้อกังขาว่าทำไมเขาถึงเจริญ”
นี้เป็นเพียงตัวอย่างที่จิ๊กนำมาเล่าสู่กันฟังถึงความเปลี่ยนแปลงในองค์กรซีเอ็ดภายใต้การนำของ “ เกษมสันต์ @ ซีเอ็ด “